หัตถการทางการแพทย์ไทย

เอมไทยมาบอกเล่าวันนี้มีสาระดีๆ
เกี่ยวกับ "หัตถการทางการแพทย์ไทย" ที่สำคัญและน่าสนใจมาฝากกัน

ถ้าพูดถึงหมอแผนไทย เชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายท่านคงนึกถึงการนวดไทย ซึ่งเป็นหัตถการที่มีชื่อเสียงและทำกันมาอย่างยาวนาน แต่จริงๆแล้ว หัตถการทางการแพทย์แผนไทยมีมากมาย นอกเหนือจากการนวด เพราะเป็นสิ่งที่หมอแผนไทยทำเพื่อบำบัดอาการเจ็บป่วยของคนไข้ ร่วมกับการจ่ายยาสมุนไพร เพื่อช่วยให้อาการหรือความรู้สึกไม่สบายนั้นทุเลาลง และช่วยให้ผู้ป่วยหายเร็วขึ้น

    หัตถการที่สำคัญของหมอไทย
1. การเผายา
คือ การนำสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหยซึ่งส่วนใหญ่จะมีรสเผ็ดร้อน ซึ่งมีฤทธิ์ในการขยายหลอดเลือด ช่วยลดอาการปวด และคลายกล้ามเนื้อได้ดี เช่น หัวไพล, ขิง, ข่า เป็นต้น มาตำรวมกัน แล้วนำไปวางบนท้องรอบสะดือแล้วใช้ผ้าเปียกทำเป็นวงกลมล้อมรอบ ใส่เกลือและน้ำมันสมุนไพรเล็กน้อย และใช้ผ้าอีกผืนคลุมทับอีกชั้นหนึ่งแล้วจุดไฟเผา (การเผายาสามารถทำบริเวณกล้ามเนื้อส่วนอื่นของร่างกายได้ด้วยเช่น กล้ามเนื้อบ่า หลัง ขา เป็นต้น) ประโยชน์ของการเผายา คือ ใช้รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ



ขับลมในร่างกาย ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น จึงช่วยในการย่อยอาหาร และลดอาการท้องผูกได้หากทำร่วมกับการโกยท้อง สำหรับสตรีที่มีปัญหามดลูก ก็สามารถช่วยได้เช่นกัน โดยหลักการของการเผายา หมอไทยเชื่อว่าสะดือเป็นจุดศูนย์รวมของร่างกาย และรอบๆสะดือยังเป็นจุดกำเนิดของเส้นลมปราณต่างๆที่ควบคุมการทำงานของร่างกายอีกด้วย



2. การพอกยา
คือการนำยาสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น หรือสมุนไพรที่มีฤทธิ์ลดปวด หรือลดอักเสบ มาตำรวมกันแล้วนำมาพอกตามข้อต่อ หรือส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น การพอกยาที่หัวเข่า อาจใช้สมุนไพรฤทธิ์เย็น เช่น ใบย่านาง ใบรางจืด เป็นต้น หรือสมุนไพรที่มีฤทธิ์ลดปวด แก้อักเสบ เช่น ดองดึง พลับพลึง ไพล เป็นต้น ซึ่งจะใช้ยาร้อนหรือยาเย็นนั้นขึ้นกับหมอผู้ทำการรักษา เช่น หากหัวเข่ามีอาการ ปวด บวมแดงร้อน เนื่องมาจากการใช้งานมากเกินไป หรือการเคลื่อนไหวมาก โดยทางการแพทย์แผนไทยเรียกว่า "ลมจับโปงน้ำ" ซึ่งหมายถึง "ข้อเข่าอักเสบ" ในระยะเบื้องต้น เพราะฉะนั้น อาจใช้ยาพอกเย็น เพื่อระบายพิษอักเสบ ร่วมกับจ่ายยาสมุนไพรที่มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อ และขับพิษร้อนที่ขังอยู่ภายในข้อออก ,แต่หากผู้ป่วยไม่มีอาการอักเสบ หรือ บวมแดงร้อนมากเหมือนระยะแรก แต่เวลาเคลื่อนไหว หัวเข่าจะมีเสียงดัง หรืออาจมีการผิดรูปของหัวเข่า หรือที่หมอไทยเรียกว่า "ลมจับโปงแห้ง" หมายถึง " ข้อเข่าเสื่อม" ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่พบมากในกลุ่มผู้สูงอายุ หัตถการที่สามารถใช้ได้นอกเหนือจากการนวดบำบัด คือการพอกยาร้อน โดยจะนำสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อนมาตำรวมกัน แล้วนำมาพอกบริเวณหัวเข่า แล้วจ่ายยาสมุนไพรที่มีฤทธิ์บำรุงเส้นเอ็น และบำรุงกระดูก และนอกจากนี้ยังมีการใช้สมุนไพรฤทธิ์เย็น ผสมกับดินสอพองและผงถ่าน แล้วนำมาพอกหน้า ช่วยถอนพิษ เพราะตำแหน่งต่างๆบริเวณใบหน้าเป็นจุดสะท้อนอวัยวะภายในร่างกายเช่นกัน ผลพลอยได้คือ หน้าใสขึ้น และ สิวอักเสบอาจน้อยลง


3. การสุมยา
คือการนำสมุนไพรที่มีฤทธิ์เกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น หัวหอม ตะไคร้ ใบมะกรูด ข่า เป็นต้น มาขยี้หรือทุบรวมกันแล้วนำไปใส่ในภาชนะปากแคบ เช่น ไห หรือหม้อดิน จากนั้น เทน้ำเดือดลงไป แล้วนำมาสูดดม โดยใช้ผ้าขนหนูผืนใหญ่ คลุมทับตัวคนไข้อีกชั้นหนึ่งเพื่อไม่ให้ควันของสมุนไพรกระจายออก หัตถการนี้ใช้ได้ดีกับผู้ป่วยที่มีอาการเกี่ยวกับภูมิแพ้ หรือทางเดินหายใจ ช่วยให้หายใจได้โล่ง และหายใจได้ลึกขึ้น

4. การอบยา
หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อของ อบซาวน่าหรืออบสมุนไพร คือการใช้สมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการผ่อนคลาย ช่วยขยายหลอดเลือด ,ลดปวด หรือขับของเสีย เช่น ไพล ว่านนางคำ ผิวมะกรูด ใบมะขาม ตะไคร้ การบูร เป็นต้น มาต้มน้ำให้เดือด แล้วสูดดมควันของสมุนไพร (หรืออาจใช้การต่อท่อไอน้ำก็ได้) ซึ่งความร้อนจากการต้ม เมื่อน้ำระเหย น้ำจะเป็นตัวพาน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพร ให้กระจาย เมื่อเราสูดดมไอของน้ำมันหอมระเหย ก็จะกระตุ้นประสาทที่ใช้ในการรับกลิ่น และมีผลต่อสารสื่อประสาทและสมอง ช่วยให้ผ่อนคลาย ลดอาการเมื่อยล้าจากการทำงาน แก้อาการปวดเมื่อย ช่วยให้นอนหลับสบายขึ้น ลดอาหารภูมิแพ้ ช่วยขับของเสียออกทางผิวหนังได้ดีขึ้น และสามารถใช้กับผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต ได้ด้วย ภายใต้การดูแลของแพทย์แผนไทยหรือญาติอย่างใกล้ชิด

5. การนั่งถ่าน
เป็นการนำสมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการสมานแผล และช่วยขับน้ำคาวปลา มาบดรวมกัน แล้วนำมาใส่ในเตาถ่านบริเวณตะแกรงด้านบน แล้วจุดไฟ จากนั้นนำเก้าอี้กลมที่ทีรูตรงกลางมาวางคร่อมเตาถ่านนั้น และให้หญิงหลังคลอด (ที่คลอดด้วยวิธีธรรมชาติ) นั่งลงบนเก้าอี้ โดยให้แผลฝีเย็บตรงกับรูของเก้าอี้ ประโยชน์ของการนั่งถ่านจะช่วยสมานแผลฝีเย็บที่เกิดขากการคลอดบุตร. ช่วยให้แผลหายไวขึ้น ลดอาการปวดและบวมจากการคลอดบุตร และช่วยในการขับน้ำคาวปลาได้อีกด้วย

 
6. การตอกเส้น
เป็นภูมิปัญญาล้านนา และมีมานานแล้ว เชื่อว่าหลายท่านอาจเคยรับการบำบัดโดยวิธีนี้มาบ้าง การตอกเส้นจะใช้ไม้สองขนาด โดยมีขนาดเล็กใช้สำผัสกับกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น และไม้ขนาดใหญ่ที่มีลักษณะแบนราบและมีที่จับ สำหรับตอกไม้ขนาดเล็กลงไปอีกบริเวณกล้ามเนื้อ ประโยชน์ของการตอกเส้น จะช่วยลดการตึงตัวของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นได้เป็นอย่างดี สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลัง หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ก็เป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน เพราะหมอจะทำการตอกไปตามแนวเส้นลมปราณ หรือเส้นลมประธานในทางแพทย์แผนไทย (เส้นประธาน อาจหมายถึงแนวกล้ามเนื้อที่มีปัญหา แนวเส้นเอ็นที่หดเกร็ง หรือแนวเส้นประสาท) ที่ถูกกดทับเพื่อทำให้เลือดมาหล่อเลี้ยงบริเวณนั้นๆได้ดีขึ้น จึงสามารถช่วยบรรเทาอาการได้


นอกจากนี้ หมอไทยเรายังมีหัตถการอื่นที่น่าสนใจนอกเหนือจากนี้ เช่น การย่ำข่างการทับหม้อเกลือ การนาบสมุนไพร การรมยา และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่มีมาอย่างยาวนาน และเป็นมรดกที่คนไทยควรรักษาไว้ให้เป็นเอกลักษณ์ของชาติต่อไป


ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก คลีนิคหมอธัญญพัฒน์เวชกรรมไทย ยาสมุนไพร

แนะนำข้อมูลติชม  m.me/aimthaiorganic
                                  www.aimthai.com

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ข่อย"สมุนไพรยาสีฟันของพระพุทธเจ้า"

สมุนไพร จาก ธรรมชาติ